อาหารภาคใต้


อาหารภาคใต้


ประบอกต้มส้ม


ข้าวยำ




ไก่กอแหละ




แกงเหลือง

ภาคใต้... เป็นภาคที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลมากที่สุด   ลักษณะภูมิประเทศ  เป็นแหลมที่ยื่นลงไปในทะเล   ผู้คนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้จึงนิยมทำการประมง  เพราะมีทรัพยากรในท้องทะเลมากมาย   เมื่ออาศัยอยู่ชายทะเล  อาชีพเกี่ยวข้องกับทะเล   อาหารหลักในการดำรงชีวิตจึงเป็นอาหารทะเล
อาหารส่วนใหญ่ของคนภาคใต้   มักเกี่ยวข้องกับปลา  และสิ่งอื่น ๆ จากท้องทะเล  อาหารทะเลหรือปลา   โดยธรรมชาติจะมีกลิ่นคาวจัด  อาหารภาคใต้จึงไม่พ้นเครื่องเทศ   โดยเฉพาะขมิ้นดูจะเป็นสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้เลย   เพราะช่วยในการดับกลิ่นคาวได้ดีนัก   ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าอาหารปักษ์ใต้จะมีสีออกเหลือง ๆ แทบทุกอย่าง   ไม่ว่าจะเป็นแกงไตปลา  แกงส้ม  แกงพริก  ปลาทอด  ไก่ทอด  ก็มีขมิ้นกันทั้งสิ้น และมองในอีกด้านหนึ่ง   คงเป็นวัฒนธรรมการกินที่ผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในภาคใต้นั่นเอง
เพราะชีวิตของคนภาคใต้   เกี่ยวข้องกับทะเล  เมื่อออกทะเลหาอาหารมาได้มากเกิดรับประทานให้หมดในหนึ่งมื้อได้   คนภาคใต้จึงนำอาหารที่ได้จากทะเลมาทำการถนอมอาหาร  เช่น
กุ้งส้ม   ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กุ้งแตะ  ซึ่งจะมีสีเขียว   กุ้งชนิดนี้เมื่อนำมาทำเป็นกุ้งส้ม  สีจะออกแดง ๆ และมีรสเปรี้ยว   การทำกุ้งส้มนั้น  นำกุ้งมาหมักกับเกลือ  น้ำตาลทราย  หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 วันจนมีรสเปรี้ยว   จึงนำมาทำอาหารรับประทานได้
การทำกุ้งส้มหากใช้กุ้งขาว   เมื่อหมักแล้วสีจะไม่แดง  ต้องใช้ใส่สีช่วย   จึงจะน่ารับประทาน

ปลาขี้เสียดแห้ง   คือการนำปลาสีเสียดมาใส่เกลือจนทั่วตัวปลา  แล้วตากแดดให้แห้ง   เก็บไว้รับประทานได้นาน

ปลาแป้งแดง   คือการนำปลาโคบ  หมักกับข้าวสุก  เกลือ  ใส่สีแดง  หมักทิ้งไว้   3-4   วัน   จึงนำมาปรุงอาหารได้

ปลาเค็ม   คือ   การนำปลามาหมักกับเกลือ  เมื่อก่อนชาวประมงออกหาปลา   พอได้ปลามากก็หมักกับเกลือบนเรือ   ครั้นเรือเข้าฝั่งก็จะได้ปลาเค็มไว้รับประทาน

กุ้งแห้ง คือ  การนำกุ้งที่ได้มาเคล้ากับเกลือ   แล้วตากแดดให้แห้ง  เก็บไว้รับประทานได้นาน

น้ำบูดู   ได้จากการหมักปลาตัวเล็ก ๆ กับเกลือเม็ด   โดยหมักไว้ในโอ่ง  ไห  หรือถังซีเมนต์  แล้วปิดฝาผนึกอย่างดี  ตากแดดทิ้งไว้ 2-3   เดือน  หรือเป็นปี  จึงนำมาใช้ได้  บูดูมีทั้งชนิดหวานและชนิดเค็ม  ชนิดหวาน   ใช้คลุกข้าวยำปักษ์ใต้  ชนิดเค็ม  ใช้ปรุงอาหารประเภทน้ำพริก   เครื่องจิ้ม

พุงปลา   ได้จากการเอาพุงปลาทู  หรือปลารังมารีดเอาสิ่งสกปรกออก  แล้วใส่เกลือหมักไว้  1   เดือนขึ้นไป  จึงนำมาปรุงอาหารได้

เนื้อหนาง   คือ การนำเอาหัวของวัวไปย่างไฟอ่อน ๆ จนสุกทั่วกันดี  แล้วแช่น้ำทิ้งไว้  1   คืน  รุ่งขึ้นขูดเอาส่วนที่ไหม้ออกจนขาวสะอาดดี  เลาะเอาแต่เนื้อ   นำมาเคล้ากับเกลือ  น้ำตาลปีบ  หมักทิ้งไว้   2-3   คืน  จึงนำมาปรุงอาหารได้   เนื้อหนางอาจทำโดย   ใช้เศษเนื้อปนเอ็นหมักก็ได้
อาหารปักษ์ใต้แม้จะเป็นอาหารที่อร่อย   น่าลิ้มลอง  แต่สิ่งหนึ่งที่ประทับใจผู้คน   คือความเผ็ดร้อนของรสชาติอาหารผู้คนในภาคใต้  นิยมรสอาหารที่เผ็ดจัด  เค็ม   เปรี้ยว  แต่ไม่นิยมรสหวาน  รสเผ็ดของอาหารปักษ์ใต้มาจากพริกขี้หนูสด   พริกขี้หนูแห้งและพริกไทย  ส่วนรสเค็มได้จากกะปิ  เกลือ  รสเปรี้ยว  ได้จากส้มแขก   น้ำส้มลูก

โหนด  ตะลิงปลิง  ระกำ  มะนาว  มะขามเปียก  และมะขามสด   เป็นต้น
เนื่องจากอาหารภาคใต้มีรสจัด  อาหารหลาย ๆ อย่างจึงมีผักรับประทานควบคู่ไปด้วย  เพื่อลดความเผ็ดร้อนลง  ซึ่งคนภาคใต้   เรียกว่า  ผักเหนาะ   หรือบางจังหวัดอาจเรียกว่า  ผักเกร็ด
ผักเหนาะของภาคใต้มีหลายอย่าง   บางอย่างก็เป็นผักชนิดเดียวกับภาคกลาง  เช่น  มะเขือเปราะ  ถั่วฝักยาว  ถั่วพู   ฯลฯ  แต่ก็มีผักอีกหลายอย่างที่รู้จักกันเฉพาะคนภาคใต้เท่านั้น   การเสิร์ฟผักเหนาะกับอาหารปักษ์ใต้    ชนิดของผักจะคล้าย ๆ กันหรืออาจเป็นผักที่ผู้รับประทานชอบก็ได้
ผักเหนาะที่คนภาคใต้ใช้รับประทานควบคู่กับอาหารประเภทน้ำพริก   หรือแกงมีหลายอย่าง เช่น
สะตอ   เป็นผักชนิดหนึ่งทางภาคใต้  ลักษณะเป็นฝักคล้ายฝักของต้นหางนกยูง   รับประทานเมล็ดทีอยู่ในฝัก  ใช้เป็นผักเหนาะ   หรือนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด
สะตอเบา   คือต้นกระถิน   รับประทานได้ทั้งยอดอ่อนและเมล็ดในฝักยอดอ่อนจะใช้เป็นผักเหนาะ   ส่วนกระถินมักรับประทานกับข้าวยำ

สะตอดอง คือสะตอที่ทำให้มีรสเปรี้ยว   โดยการดองกับน้ำตาลและเกลือ

ลูกเนียง เป็นผลของไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในภาคใต้  ลักษณะของผลจะมีเปลือกแข็ง   รับประทานเมล็ดข้างใน  ลูกเนียงถ้ายังไม่แก่  เปลือก ในที่ติดกับเม็ดจะมีสีนวล   เนื้อสีเหลืองนวลเช่นกัน  มีรสมันและกรอบ ผลที่แก่จัดเอาไปต้มจนเนื้อเหนียว   รับประทานกับมะพร้าวทึนทึก ขูดผสมกับน้ำตาลทรายและเกลือใช้เป็นของขบเคียวได้

ลูกเนียงหมาน   คือ การเอาลูกเนียงที่แก่ไปแช่น้ำพอให้เปลือกแตก  แล้วนำไปหมกไว้ในทราย   พรมน้ำให้ชื้นทิ้งไว้สัก   2-3   วัน  พอมีรากงอกออกมาเป็นใช้ได้   ลูกเนียงหมานจะมีกลิ่นฉุนและรสเฝื่อน

หน่อเหรียง   มีลักษณะคล้ายถั่วงอกหัวโต  แต่หัวจะโตกว่าถั่วงอก   และมีสีเขียว  รสมัน  กลิ่นฉุน  ใช้เป็นผักเหนาะ   และนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด

ยอดยาร่วง   คือ ยอดอ่อนของต้นมะม่วงหิมพานต์  มีรสชาติฝาด ๆ เปรี้ยว ๆ ใช้เป็นผักเหนาะกับน้ำพริกต่าง ๆ ขนมจีนน้ำยา  และแกง

ยอดปราง   คือ ยอดอ่อนของต้นมะปราง  มีรสฝาด   ใช้เป็นผักเหนาะ

ยอดมะกอก   คือยอดอ่อนของต้นมะกอก  มีรสเปรี้ยว  ใช้เป็นผักเหนาะ

หยวกกล้วยเถื่อน   คือแกนกลางของต้นกล้วย   นำมาลวกเป็นผักเหนาะ  หรือจะทำแกงส้ม  แกงเผ็ด  แกงเลียง

ยอดหมุย   ลักษณะใบเรียวเล็ก  รสมัน   กลิ่นหอมใช้เป็นผักเหนาะ
นอกจากผักเหนาะที่มีมากมายแล้ว   ยังมีผักชนิดอื่น ๆ และเครื่องปรุงอาหารอีกหลายอย่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของอาหารภาคใต้   เช่น

เห็ดแครง   เป็นเห็ดที่ขึ้นตามต้นยางพาราที่ถูกโค่นแล้วมีมากในฤดูฝนลักษณะคล้ายดอกไม้   มีทรายมาก  เวลาทำอาหารจึงต้องล้างหลาย ๆ ครั้ง  เพื่อให้ทรายหมด   ใช้ทำอาหารได้หงายชนิด  เห็ดแครง  นำมาตากแห้งเก็บไว้ได้นาน

อ้อดิบ   คือต้นคูนของภาคกลาง   เวลาใช้ปรุงอาหารให้ลอกเยื่อบาง ๆ ออก   แล้วหั่นเป็นท่อนคล้ายสายบัว

ยอดมวง   คือยอดต้นชะมวง  มีรสเปรี้ยว  ใช้แกงส้ม   ต้มเครื่องในก่อนใช้ต้องนำยอดมวงย่างไฟให้เหี่ยวเสียก่อน   เพื่อช่วยลดความเหม็นเขียวลง

ปลาหลาด   คือ  ปลาสลาดเป็นปลาน้ำจืด  รูปร่างคล้ายปลากราย



เรียบเรียงโดย  นางสาว  ยุวรี  เดชมล
อ้างอิงจาก       : http://ikm.wattano.ac.th:8081/Student/food/tai.html





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น